วัดช้างล้อม
วัดช้างล้อม วัดนี้ตั้งอยู่ในตำแหน่งเกือบกึ่งกลางเมืองศรีสัชนาลัยบนที่ราบเชิงเขาด้านทิศใต้ของเขาพนมเพลิง สันนิษฐานว่าเป็นวัดเดียวกันกับวัดที่ปรากฏในหลักศิลาจารึกที่ ๑ กล่าวว่า “พ่อขุนรามคำแหงให้ขุดพระธาตุออกให้คนทั้งหลายเห็น กระทำบูชาบำเรอพระธาตุได้เดือนหกวัน จึงฝังลงกลางเมืองศรีสัชนาลัย แล้วก่อพระเจดีย์เหนือหกเข้าจึ่งแล้ว ตั้งเวียงผาล้อม
พระมหาธาตุสามเข้าจึ่งแล้ว” หมายถึง พ่อขุนรามคำแหงให้ขุดเอาพระธาตุที่มีการฝังไว้ออกมาให้หมด แล้วทำพิธีบูชาใหม่อีกครั้งแล้วจึงนำไปฝังลงที่กลางเมืองศรีสัชชนาลัย และก่อเจดีย์เหนือบริเวณที่ฝังพระธาตุใช้เวลา ๖ ปี จึงเสร็จ แล้วสร้างกำแพงหินล้อมรอบพระมหาธาตุเป็นเวลา ๓ ปี จึงเสร็จ แต่จากการขุดค้นในสมัยหลัง เจดีย์องค์นี้น่าจะสร้างขึ้นภายหลังจาก
พ่อขุนรามคำแหงมหาราช โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัย พระยาลิไท หรือราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ๒๐ ตอนต้น
เป็นระยะเวลาที่พุทธศาสนาสายที่สัมพันธ์กับลังกากำลังได้รับความนิยม เจดีย์ช้างล้อมซึ่งเกี่ยวข้องกับลังกาก็น่าจะสร้างขึ้นใน
ช่วงเวลานี้ด้วยเช่นกัน
ลักษณะฐานเจดีย์ ที่วัดแห่งนี้มีรูปช้างปูนปั้นล้อมรอบจำนวน ๓๙ เชือก รูปปั้นช้างเดิมมีงวงแตะอยู่ที่ดอกบัวปูนปั้นประดับบริเวณด้านหน้าตัวช้างแสดงถึงความเคารพบูชาพระพุทธศาสนา ช้างตัวมุมทั้ง ๔ มุมจะตัวใหญ่กว่าตัวอื่นๆ มีลวดลาย เครื่องประดับที่คอ หน้าเท้า และข้อเท้าอย่างสวยงาม เรียกว่า ช้างทรงเครื่อง ข้างในตัวช้างมีลักษณะกรวง สันนิษฐานว่าในอดีตอาจเป็นที่สำหรับเก็บของมีค่า ระหว่างช้างมีเสาประทีปสำหรับประดับไฟในพิธีกรรมตอนกลางคืน ช้างที่วัดช้างล้อมนี้มี
ลักษณะเด่นคือช้างยืนเต็มตัว ต่างจากวัดช้างล้อมที่สุโขทัย กำแพงเพชรและที่อื่นๆ ซึ่งทำเป็นช้างโผล่ออกมาแค่ครึ่งตัว