วัดนางพญา
วัดนางพญา ตั้งอยู่แนวเดียวกับวัดสวนแก้วอุทยานใหญ่ เป็นวัดที่มีลวดลายปูนปั้นงดงามมาก โดยปรากฏอยู่บนซากผนังวิหารด้านตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นวิหารขนาดเจ็ดห้อง เสาวิหารทุกด้านมีเทพนมและลวดลายต่างๆ ทำด้วยสังคโลกไม่เคลือบ เจดีย์ประธานของวัดเป็นเจดีย์ทรงกลมตั้งอยู่บนฐานประทักษิณ ซุ้มด้านหน้ามีบันไดทางขึ้นจนถึงโถงเจดีย์ ตรงกลางโถงมีแกนเจดีย์ประดับด้วยลวดลายปูนปั้น วิหารก่อด้วยศิลาแลงมีมุขหน้าและมุขหลัง ผนังวิหารเจาะช่องแสง ผนังด้านใต้มีลวดลายปูนปั้น นอกจากนั้นยังมีลวดลายพรรณพฤกษาและรูปเทพพนมที่เป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น
สถาปัตยกรรม วัดนางพญา มีบริเวณกว้างขวางพอสมควร ภายในวัดมีเจดีย์ทรงลังกาประกอบซุ้มเรือนธาตุเป็นประธาน ก่อด้วยศิลาแลงสูงใหญ่ และมีสภาพสมบูรณ์รอบฐานเจดีย์ มีเสาโคมไฟโดยตลอดทางเดิน มีบันไดขึ้นไปบนเจดีย์ และมีวิหารขนาดเจ็ดห้อง ซึ่งเป็นผังที่นิยมสร้างกันในแบบสุโขทัยและสถาปัตยกรรมเมืองเหนือ ภายในวิหารตามเสาทุกด้านมีเทพพนมและลวดลายต่างๆ ทำด้วยสังคโลกไม่เคลือบ จุดเด่นของวัดนี้คือมีผนังเหลืออยู่ด้านหนึ่งโดยมี
"ลวดลายปูนปั้น (Stucco Decoration)" ทำเป็นกึ่งมนุษย์กึ่งวานรกำลังวิ่งที่สวยงามอยู่ ซึ่งปัจจุบันหลุดลอกออกไปพอสมควรแล้ว ทั้งนี้มีการสร้างหลังคาสังกะสีคลุมผนังไว้อีกทีเพื่อการอนุรักษ์ ผนังดังกล่าวเป็นผนังที่ไม่มีหน้าต่าง แต่มีช่องอากาศตามแบบสุโขทัยและอยุธยาตอนต้น